บทความ

5 จุดเสี่ยงจากการติดตั้งหลังคาที่ไม่ได้มาตรฐาน

12 ก.ย. 2565 22:02 เข้าชม 1889
  1. ติดตั้งสันหลังคา ตะเข้สัน ไม่ได้มาตรฐาน

    ส่วนของหลังคาที่พบว่าเกิดการรั่วซึมบ่อยๆ คือ บริเวณรอยต่อระหว่างผืนหลังคาแต่ละด้าน โดยเฉพาะบริเวณสันหลังคาหรือตะเข้สัน ที่เกิดจากระนาบหลังคาชนกันเป็นสันขึ้นมา ทำให้ต้องมีวัสดุครอบเป็นตัวปิดรอยต่อเอาไว้ ซึ่งช่างส่วนใหญ่จะใช้วิธี “ครอบสันหลังคาแบบเปียก” โดยใช้ปูนซีเมนต์ผสมทรายและน้ำ แล้วโปะลงบนสันหลังคาเป็นสองแถว แล้วนำครอบสันหลังคามาวางกดลงไปบนก้อนปูนที่โปะไว้ ด้วยคุณสมบัติของปูนซีเมนต์ จะช่วยจะยึดติดกับผิวแผ่นหลังคาและครอบติดกันได้ดีในระดับหนึ่ง หากช่างดีฝีมือดีครอบสันหลังคาแบบนี้ก็จะคงทนพอสมควร แต่ถ้าการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ช่างที่มุงหลังคาระหว่างสร้างบ้านใหม่โบกปูนล้นเข้าไปในตะเข้สัน บางหลังติดตั้งปูนใต้ครอบบางเกินไปและล้นหัวกระเบื้อง การติดตั้งครอบหลังคาที่ไม่แน่นหนายึดครอบไม่สนิท ติดตั้งครอบสันหลังคาไม่ได้ระดับ หรือตัดกระเบื้องร่องรางและตะเข้สันไม่ได้แนวตรง จะทำให้เกิดช่องว่างเป็นช่องทางให้น้ำซึมและรั่วเข้าไปในบ้านได้ อีกกรณีที่พบได้บ่อยคือ ปูนเกิดการเสื่อมสภาพจากการยืดหดตัวของวัสดุ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จึงเกิดรอยแตกร้าวเมื่อมีฝนตกลมกระโชกแรง จะพัดน้ำฝนย้อนขึ้นมาได้ ส่งผลให้น้ำซึมเข้าตามรอยแตกของปูนที่อุดครอบสันหลังคา

  2. ระยะแปห่างเกินไป หลังคาแอ่นตัว

    หลายคนอาจสงสัยว่าการติดตั้งโครงหลังคาที่วางระยะห่างเกินไปหรือมุงกระเบื้องไม่ได้แนวตรง จะทำให้เกิดหลังคารั่วซึมได้อย่างไร อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “แป” เป็นชิ้นส่วนสำคัญของโครงสร้างหลังคา ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักและยึดเกาะกระเบื้องหลังคา หากติดตั้งจันทันที่มีระยะห่างมากเกินไป โครงหลังคาไม่ได้ระดับจากการจัดระยะแปไม่เท่ากัน ทำให้แปต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้นไปด้วย หรือแปเกิดการผุกร่อนจากความชื้นนาน ๆ ทำให้แปแอ่นตัวหรือเกิดการยุบตัวลงของหลังคา ซึ่งจะไปดันกระเบื้องที่เคยเรียงตัวกันสนิทสูงโก่งขึ้นมาจนเกิดช่องว่าง ส่งผลให้เมื่อมีฝนตกลมแรงน้ำฝนไหลย้อนเข้ามาที่ส่วนใต้หลังคา ช่องรั่วแบบนี้สามารถสังเกตตรวจสอบได้โดยการเปิดฝ้าเพดานตรงบริเวณที่มีน้ำรั่วซึมลงมาในเวลากลางวัน เพื่อมองหาช่องว่างที่แสงสามารถผ่านเข้ามายังใต้หลังคา การวางแนวกระเบื้อง ต้องเป็นแนวตรงให้ดูสวยงาม ไม่คด ไม่เบี้ยว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้กระเบื้องแตกชำรุดได้ง่าย เจ้าของบ้านควรเช็คลักษณะการวางซ้อนกันของกระเบื้องแต่ละแผ่นว่าแนบไม่สนิทหรือไม่ เพราะถ้าวางไม่สนิทจะทำให้กระเบื้องแต่ละแผ่นขาดความสมดุลในการกระจายน้ำหนัก และเกิดช่องโหว่ระหว่างแผ่นเป็นจุดที่น้ำจะซึมเข้าได้ ซึ่งส่วนนี้สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ง่าย
  3. องศาของหลังคา

    เมืองไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ไม่ว่าภาคไหนก็จะต้องเจอกับฝน ดังนั้นการติดตั้งหลังคาจึงต้องคำนึงถึงองศาความลาดเอียงที่พอเหมาะ เพื่อให้น้ำฝนไหลระบายลงมาได้ง่าย ไม่ติดค้างอยู่บนลอนหลังคา ซึ่งองศาหลังคาที่น้อยเกินไป นอกจากจะทำให้ความชื้นคงอยู่บนหลังคานานขึ้นทำให้เกิดเชื้อราได้ง่ายแล้ว ยังทำให้น้ำฝนไหลย้อนกลับเข้าไปใต้ชายคา หลักการออกแบบหลังคาที่ป้องกันการรั่วซึมได้ดี จะใช้หลังคาทรงสูงมีความชันตั้งแต่ 30 องศา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุที่ใช้มุงหลังคาและข้อกำหนดของหลังคาแต่ละชนิดด้วย

    ทั้งนี้ การกำหนดองศาความชันของหลังคาจะไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้อง 30 องศาขึ้นไป ในมุมของงานดีไซน์ บ่อยครั้งที่เจ้าของบ้านต้องการบ้านหลังคาต่ำ เพื่อให้รูปทรงหน้าตาดูโมเดิร์นทันสมัย การปรับขนาดองศาที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่วัสดุหลังคาจะรองรับได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษาสถาปนิก วิศวกร เพื่อคำนวณระยะซ้อนของแผ่นหลังคา เพื่อป้องกันน้ำฝนไหลย้อนกลับ ซึ่งมักเป็นปัญหารั่วซึมช่วงฝนตกหนักได้

  4. น้ำรั่วบริเวณอุปกรณ์ยึด

    ช่องโหว่ที่เกิดการการเจาะยึดหลังคาเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในชนิดวัสดุมุงที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ยึดอย่าง สกรู ตะปูเกลียว ในแผ่นเมทัลชีทที่เกิดการสกรูเจาะผิดพลาดไม่ตรงแปแล้วไม่ได้อุดเก็บงานให้เรียบร้อย ช่างบางคนใช้วัสดุรองตะปูเกลียวยึดหลังคาแบบไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา เช่น ใช้วัสดุรองตะปูเกลียวผิดประเภท ไม่ใส่ยางรองตัวยึดแผ่นเมทัลชีทกับแป ซึ่งทำให้การใช้งานไม่ทนทานเป็นหนึ่งสาเหตุของการรั่วซึม อย่างไรก็ตามวัสดุที่ใช้งานไปนาน ๆ ก็ย่อมการเสื่อมสภาพลง ตัววัสดุที่มีหน้าที่ป้องกันน้ำเข้าตามรอยยึดก็เช่นกัน อาจเป็นสนิม หลุด ก็ทำให้มีรูรั่วขึ้นได้เหมือนกัน

  5. โครงหลังคาบ้านไม่ได้มาตรฐาน

    โครงสร้างหลังคามีหน้าที่รับน้ำหนักแผ่นกระเบื้องหลังคาจำนวนมาก พร้อมกับทำหน้าที่ยึดติดแผ่นหลังคาร่วมกับตัวบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้แผ่นวัสดุหลังคาหลุดปลิวตามแรงลม สามารถปกป้องรองรับผืนหลังคาไม่ให้เกิดปัญหารั่วซึมได้ ปัจจุบันหลาย ๆ หันมาใช้วัสดุเหล็กกันมากขึ้น เพราะติดตั้งง่าย และทนทาน แข็งแรง ทั้งนี้การประกอบโครงหลังคาไม่ว่าจะเป็นวัสดุชนิดใดก็ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของช่างในการวางระยะที่ทำงานควบคู่ไปกับการคำนวณทางวิศวกรรมอย่างรอบคอบ

    ขอบคุณข้อมูลดีๆ :: www.banidea.com

วิธีแก้ปัญหา หลังคารั่ว ทำหลังคาบ้านใหม่
ปรึกษาบริษัทมืออาชีพ บริษัท เจพีพรีเมี่ยมเฮ้าส์ จำกัด

หลังคามาตรฐานระดับโลก หลังคาชิงเกิ้ลรูฟ หลังคายางมะตอย
ฝ่ายขาย :082-8888-166
            082-8888-161

พูดคุย-สอบถาม คลิก